โรคลมชักในเด็กกับการรักษาด้วย ‘กัญชา’

อธิบดีกรมการแพทย์เผยผลสำรวจผู้ป่วยโรคลมชักรักษายาก ทดลองใช้สารสกัดกัญชาซีบีดีสูงเป็นระยะเวลา 12 เดือน จำนวน 14 ราย

 

สุขภาพ

 

พบว่า มีอาการชักรุนแรงลดลง 7 ราย สอดคล้องกับผลการวิจัยในต่างประเทศ สารสกัดกัญชาซีบีดี สามารถรักษาผู้ป่วยโรคลมชักชนิดรุนแรงในเด็กให้ลดลงได้ แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงมากเช่นกัน

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การใช้สารสกัดกัญชาในการรักษาโรคลมชักมีมานาน ในบางประเทศอนุญาตให้ใช้เป็นยาได้ แต่ในหลายประเทศยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย การศึกษาระยะแรกไม่มีการควบคุมขนาดของยาที่ชัดเจนพบว่าได้ผลในผู้ป่วยโรคลมชักบางราย ในปี พ.ศ. 2560 ในต่างประเทศได้ทำการศึกษาวิจัยแบบสุ่มเปรียบเทียบสารสกัดกัญชาซีบีดีกับยาหลอกพบว่าสารสกัดกัญชาซีบีดีสามารถรักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่รุนแรงรักษายากในเด็กโดยลดชักชนิดรุนแรง แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงมากเช่นกัน

มีการประกาศใช้กฎหมายให้สามารถนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ภายใต้รูปแบบพิเศษในการเข้าถึงยา โดยสถาบันประสาทวิทยาและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ได้ทำการศึกษาวิจัยติดตามผู้ป่วยโรคลมชักรักษายากในเด็กที่ได้สารสกัดกัญชาซีบีดีสูง ร่วมกับยากันชักหลายชนิด เป็นระยะเวลา 12 เดือน จำนวน 14 ราย พบว่าจำนวนผู้ป่วยมีอาการชักรุนแรงลดลง 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 พบผลข้างเคียงทุกราย ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและมักเกิดในช่วง 3 เดือนแรก โดยเฉพาะเมื่อได้รับสารสกัดกัญชาในขนาดสูง ซึ่งพบผู้ป่วย 4 ราย ที่ต้องหยุดยาเนื่องจากชักมากขึ้น จึงสรุปได้ว่าสารสกัดกัญชาชนิดซีบีดีสูงมีประสิทธิผลในการรักษาโรคลมชักรักษายาก ในเด็กไทยพบผลข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรง โดยเริ่มยาขนาดต่ำและเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่รุนแรงในช่วง 3 เดือนแรก